หูกวาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Terminalia catappa) เป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ มีความสูงประมาณ 8-25 เมตร มีเปลือกเรียบ กิ่งแตกรอบลำต้นตามแนวนอนเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่ตอนปลายกิ่ง ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบสอบแคบ เว้า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ขนาดเล็ก มีสีขาวนวล ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลเป็นรูปไข่หรือรูปรีป้อม ๆ แบนเล็กน้อยคล้ายเมล็ดแอลมอนด์ มีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร มีสีเขียว เมื่อแห้งมีสีดำคล้ำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของอนุทวีปอินเดีย, เอเชียอาคเนย์ ไปจนถึงภูมิภาคโอเชียเนียและหมู่เกาะฮาวาย โดยมักจะพบประจำที่บริเวณชายหาดหรือป่าชายหาดริมทะเล[1] เพราะเป็นไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินแบบดินร่วนปนทราย
มีประโยชน์โดยเปลือกและผลมีรสฝาดมาก ใช้แก้อาการท้องเสีย ย้อมหนังสัตว์ ทำหมึก เมล็ดในผลรับประทานได้ และให้น้ำมันคล้ายน้ำมันอัลมอนด์ นอกจากนี้แล้วใบของหูกวางโดยเฉพาะใบแห้ง เป็นที่รู้จักดีของผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลากัด เนื่องจากใช้ใบแห้งหมักน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาได้ เพราะสารแทนนินในใบหูกวาง จะทำให้สภาพน้ำมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) สูงขึ้น เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงปลาที่มาจากแหล่งน้ำที่มีค่าความเป็นกรดสูง ทั้งนี้ยังช่วยลดการสะท้อนแสงของน้ำ เพื่อให้ปลาสบายตา ไม่เสียสายตา รู้สึกปลอดภัย ไม่ใช้ปากคีดกระจก และใช้รักษาอาการบาดเจ็บของปลากัดได้เป็นอย่างดี เพราะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี
หูกวางยังมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ละจังหวัดหรือภูมิภาคด้วย เช่น โคน (นราธิวาส), ดัดมือ หรือ ตัดมือ (ตรัง), ตาปัง (พิษณุโลก, สตูล), ตาแปห์ (มลายู-นราธิวาส), หลุมปัง (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น
ประโยชน์ของหูกวาง
- เมล็ดหูกวางสามารถนำมารับประทานได้ และยังมีโปรตีนที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายของเราอีกด้วย
- คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดหูกวาง ต่อ 100 กรัม ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประกอบไปด้วย พลังงาน 594 แคลอรี, น้ำ 4%, โปรตีน 20.8 กรัม, ไขมัน 54 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 19.2 กรัม, ใยอาหาร 2.3 กรัม, วิตามินบี1 0.32 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.08 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.6 มิลลิกรัม, แคลเซียม 32 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 789 มิลลิกรัม, และธาตุเหล็ก 9.2 มิลลิกรัม เป็นต้น
- เมล็ดสามารถนำเอาไปทำเป็นน้ำมันเพื่อนำไปใช้บริโภค (คล้ายน้ำมันอัลมอนด์) หรือทำเครื่องสำอางได้
- เปลือกและผลมีสารฝาดมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีผ้า ฟอกหนังสัตว์ และทำหมึกได้[2] ในอดีตมีการนำเอาเปลือกผลซึ่งมีสารแทนนินมาใช้ในการย้อมหวาย และได้มีการทดลองใช้ใบเพื่อย้อมสีเส้นไหม พบว่าสีที่ได้คือสีเหลือง สีเขียวขี้ม้า หรือสีน้ำตาลเขียว
- ใบแก่นำมาแช่น้ำใช้รักษาบาดแผลของปลาสวยงาม อย่างเช่น ปลากัด ปลาหางนกยูงได้ อีกทั้งยังช่วยบำรุงสุขภาพปลาและสีสันของปลา ช่วยทำให้ตับของปลานั้นดีขึ้น จึงส่งผลให้ปลาแข็งแรง ช่วยป้องกันไม่ให้ปลาเป็นโรค (แต่ควรระมัดระวังเรื่องของยาฆ่าแมลงที่อาจพบได้ในใบหูกวาง) (รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ)
- เนื้อไม้หูกวาง สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำบ้านเรือน หรือเครื่องเรือนได้ดี เพราะเป็นไม้ที่ไม่มีมอดและแมลงมารบกวน หรือนำมาใช้ทำฟืนและถ่านก็ได้[
- ในปัจจุบันต้นหูกวางเป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกกันมาก เพื่อเป็นไม้ประดับตามข้างทางหรือตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ริมถนน สวนป่า หรือปลูกในที่โล่งต่าง ๆ เป็นต้น โดยเป็นต้นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนแล้ง ทนน้ำขังแฉะ แต่โดยมากจะนิยมปลูกเป็นไม้เพื่อให้ร่มเงามากกว่าเป็นไม้ประดับ เพราะมีกิ่งเป็นชั้น ๆ เรือนยอดหนาแน่น และหากต้องการให้ต้นหูกวางแผ่ร่มเงาออกไปกว้างขวาง ก็ต้องตัดยอดออกเมื่อได้เรือนยอดหรือกิ่งประมาณ 3-4 ชั้น ซึ่งจะทำให้เรือนยอดแตกกิ่งใบออกทางด้านข้าง (ไม่ควรนำมาปลูกใกล้บริเวณตัวอาคารบ้านเรือน เนื่องจากหูกวางเป็นไม้โตเร็ว รากจะดันตัวอาคารทำให้อาคารบ้านเรือนแตกร้าวเสียหายได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หูกวาง (Hu Kwang)”. หน้า 335.
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany/. [18 ก.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “หูกวาง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [18 ก.ค. 2014].
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “หูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [18 ก.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “หูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [18 ก.ค. 2014].
- โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม จังหวัดนครสวรรค์. “ต้นหูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chaiwbi.com. [18 ก.ค. 2014
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น